ที่มานี่ เพราะนี่คือโรงเรียนของเรา ขอให้ช่วยกันดูแลให้ดี
พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อเสด็จราชวินิตบางแก้ว ๙ มีนาคม ๒๕๑๖
โรงเรียนราชวินิตบางแก้วเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต ๖ เปิดสอนครั้งแรกวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๑๕
นายสุขุมและคุณหญิงจันทร์ฟอง ถิระวัฒน์ ได้ทราบว่า พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำริจะก่อตั้งโรงเรียนมัธยมศึกษาขึ้น เพื่อเป็นที่ศึกษาต่อของ นักเรียนโรงเรียนราชวินิต ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ พระองค์โปรดเกล้าฯก่อตั้งขึ้นให้เป็นที่ศึกษาแก่บุตรหลาน ข้าราชบริพาร
อีกทั้งนายสุขุมและคุณหญิง จันทร์ฟอง ถิระวัฒน์ มีจิตศรัทธาที่จะสร้างสิ่งอันเป็นสาธารณะประโยชน์แก่ประชาชนโดยทั่วไป ท่านทั้งสองจึงได้ น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินในบริเวณหมู่บ้านเมืองแก้ว ซึ่งตั้งอยู่บริเวณกิโลเมตรที่ ๗.๗ ฝั่งขวาของถนนบางนา- ตราด ในพื้นที่ตำบลบางแก้ว อำเภอบางพลีจังหวัดสมุทรปราการ จำนวน ๓๗ ไร่เศษ เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๓
ต่อมา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานที่ดินแปลงนี้ แก่กระทรวงศึกษาธิการเพื่อจัดตั้งเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษา สายสามัญและพระราชทานนามว่า ราชวินิตบางแก้ว
นับแต่โรงเรียนราชวินิตบางแก้วได้ก่อตั้งมาโรงเรียนได้รับ พระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นจาก
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระองค์ทรงเอาพระทัยใส่ ด้านความเจริญเติบโตก้าวหน้าของโรงเรียนมาโดยตลอด ดังเห็นได้จากการเสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธี เปิดอาคารเรียนต่าง ๆ ของโรงเรียน ดังนี้
ครั้งที่ ๑ วันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๖
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดอาคารเรียนหลังที่ ๑ อาคาร “ร่มเกล้า” และได้ทรงปลูก ต้นประดู่แดง ไว้เป็นที่ระลึก ด้วยการณ์นี้โรงเรียนจึงถือว่าวันที่ ๙ มีนาคม ของทุกปี เป็นวันสถาปนาโรงเรียน และถือเอาต้น “ประดู่แดง” เป็นต้นไม้ประจำโรงเรียน
ครั้งที่ ๒ วันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๑
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจจารินีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติสยามบรมราชกุมารี มาทรงเปิดอาคาร “บงกชมาศ
ครั้งที่ ๓ วันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๕
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร โปรดเกล้าฯ ให้ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณมหิศรภูมิพลราชวรางกูรกิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดมบรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีเปิดอาคาร “ราชวิธานค์”
ครั้งที่ ๔ วันที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ . ๒๕๓๕
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรโปรดเกล้าฯให้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดอาคาร “เฉลิมพระเกียรติ” กับทั้งได้รับพระบรมราชานุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์ พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ และตราพระราชพิธีมังคลาภิเษก ประดิษฐานหน้าอาคาร
ครั้งที่ ๕ วันที่ ๒๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๐
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดอาคาร “เฉลิมพระเกียรติ” อาคาร “สิริยาคาร” และอาคาร“พิพิธภัณฑ์” กับทั้งได้รับพระบรมราชานุญาตให้ใช้ สัญลักษณ์พระราชพิธีกาญจนาภิเษก ประดิษฐานหน้าอาคาร “เฉลิมพระเกียรติ”
ครั้งที่ ๖ วันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๓
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดศูนย์คอมพิวเตอร์ การเรียนการสอนเฉลิมพระเกียรติ ศูนย์สืบค้นข้อมูลนานาชาติ (R.W.B.International Resource Center) และห้องสมุดเฉลิมพระเกียรติ ๗๒ พรรษามหาราช
ครั้งที่ ๗ วันที่ ๑๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๗
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดอาคาร ๔๘ พรรษาเฉลิมพระเกียรติ ทั้งได้รับพระราชานุญาตให้เชิญตราสัญลักษณ์ พระนามาภิไธยย่อ ส.ธ.ประดับบนอาคาร
ครั้งที่ ๘ วันที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๐
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดอาคารเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา อาคารศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติครองราชย์ ๖๐ ปี ศูนย์เทคโนโลยีสิรินธรและสวนเจ้าฟ้านักเกษตร
ครั้งที่ ๙ วันที่ ๒๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๐
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดอาคารเฉลิมพระเกียรติ ทั้งได้รับพระราชานุญาตให้เชิญตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ในโอกาสฉลองพระชนมายุ ๕ รอบ ๒ เมษายน ๒๕๕๘ ประดิษฐานหน้าอาคาร “เฉลิมพระเกียรติ”